Loading...

การลงพื้นที่ไปจัดห้องสมุดโรงเรียนให้เหมาะแก่การเรียนรู้และส่งเสริมการอ่าน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

          สำนักวิทยบริการฯ ได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยให้รับผิดชอบในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ โดยสำนักวิทยบริการฯ ได้ไปพัฒนาให้ห้องสมุดและส่งเสริมการอ่านโรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้ ที่ตอบสนองความต้องการและมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นส่งเสริมให้ครู นักเรียน และบุคลากรโรงเรียน โดยใช้แหล่งการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง ให้มีนิสัยรักการอ่าน รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สามารถพัฒนาทักษะการอ่านได้
          โดยเมื่อวันที่ 22-25 มีนาคม 2564 สำนักวิทยบริการฯ ได้มีการลงพื้นที่ไปจัดห้องสมุดโรงเรียนให้เหมาะแก่การเรียนรู้ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ มี ด.ต.วิสุทธิ์ ปรางทอง เป็นผู้รับผิดชอบห้องสมุดและมียุวบรรณารักษ์ จำนวน 3 คน  การลงพื้นที่ครั้งนี้มีการคัดแยกหนังสือให้เป็นหมวดหมู่และจัดทำบัญชีรายชื่อสื่อ เช่น หนังสือพระราชทาน หนังสืออ้างอิง หนังสือทั่วไป หนังสือเยาวชน หนังสือนวนิยาย หนังอาเซียน คู่มือครู แบบเรียน เป็นต้น พร้อมกับการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติงานในการคัดแยกและลงทะเบียนหนังสือ ซึ่งจะมีการมาประเมิน ติดตามการดำเนินงานในรอบต่อไป
           โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 8 ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พิกัด NP 627568 โดยสังกัด กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 142 กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14 กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ขึ้นการควบคุมดูแล อำนวยการ สนับสนุน กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 145) ก่อนการจัดตั้งโรงเรียน ตชด.บ้านป่าหมาก มีประชาชนอาศัยอยู่ ชื่อว่าบ้านป่าหมาก เดิมฝากการปกครองไว้กับหมู่ที่ 3 บ้านหนองเป่าปี่ ตำบลศาลาลัย กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยยังไม่ได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ พ.ศ. 2547 ซึ่งในอดีตเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและถือว่าเป็นบุคคลพื้นที่สูง โดยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ. 2484 โดยมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า บ้านแพรกตะลุยซ้าย เพราะอยู่ใกล้กับลำห้วยแพรกตะลุยซ้าย ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปราณบุรี โดยในสมัยนั้นมีราษฎรอาศัยอยู่ประมาณ 10 ครัวเรือน และต่อมาได้ตกเป็นพื้นที่อิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
           ในปี พ.ศ. 2525 สถานการณ์การก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ สิ้นสุดลง จึงมีชาวกะเหรี่ยงจากบ้านป่าละอู อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับชาวบ้านป่าหมาก อีกประมาณ 10 ครัวเรือน ซึ่งชาวบ้านกลุ่มนี้นิยมกินหมากจึงได้ปลูกหมากไว้เก็บผลผลิต ต่อมา ชุดลาดตระเวนของหมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 710 ( ปัจจุบัน กก.ตชด.14 ) ได้ลาดตระเวนเข้ามาพบจึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “บ้านป่าหมาก” ( ตชด.เป็นผู้ตั้งชื่อให้จนปัจจุบัน)
           ในปี พ.ศ. 2534 กก.ตชด.14 ได้ร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ได้พยายามแนะนำราษฎร ให้เข้าปลูกบ้านเรือนรวมกลุ่มกัน โดยมีการแบ่งพื้นที่เท่าๆกัน เพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกลำลายพื้นที่ป่าเขาซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปราณบุรี และง่ายต่อการควบคุม แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นพื้นที่ทุรกันดารการเดินทางลำบาก และเป็นพื้นที่ที่มีเชื้อไข้ป่าหรือมาลาเรียสูงมาก
           ในปี พ.ศ. 2538 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการจัดครู จำนวน 2 คน มี เดินทางเข้ามาทำการสอนภายใต้การติดต่อประสานงานของ กก.ตชด. 14 มีพื้นที่ 25 ไร่ พร้อมกับสร้างอาคารเรียน ขนาด 6x12 เมตร จำนวน 3 ห้องเรียน ไม่มีฝากั้น
           ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ผบ.กกล.สุรสีห์ (พลตรี สัญชัย รัชตะวรรณ) เดินทางมาตรวจเยี่ยมบ้านแพรกตะคร้อ อำเภอปราณบุรี ( ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอหัวหิน ) ได้ทราบว่าชาวกระเหรี่ยงบ้านสวนทุเรียนยังมีการติดต่อกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่า ตามบริเวณชายแดนพม่า อันอาจจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อราษฎรไทยในโอกาสต่อไป จึงได้มอบนโยบายการจัดระเบียบพื้นที่ชายแดนบ้านสวนทุเรียนและบ้านป่าหมาก
           ในปี พ.ศ. 2541 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกคำสั่งที่ 205/2541 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานออกทำการสำรวจพื้นที่ที่จะใช้รองรับในการอพยพชาวเขาจากบ้านสวนทุเรียน
           ในปี พ.ศ. 2542 (1 พฤศจิกายน 2542)หมู่บ้านป่าหมาก ได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนบ้านป่าหมาก กก.ตชด.14 ได้จัดครู ตชด. จำนวน 2 นาย เข้ามาทำการสอน ซึ่งครั้งแรกมี จ.ส.ต.รัตนะ ศรีคำ เป็นหัวหน้าศูนย์การเรียนโดยเริ่มจัดการเรียนการสอนในระดับชั้น อนุบาล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ และทรงเยี่ยมราษฎร จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 วันที่ 28 กรกฎาคม 2549 ครั้งที่ 2 วันที่ 31 มกราคม 2554 ครั้งที่ 3 วันที่ 27 มิถินานย 2559
           ปัจจุบันโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมากมีครูทั้งหมด จำนวน 10 คน แยกดังนี้ ครูตชด. 7 นาย ผู้ดูแลเด็กเล็ก จำนวน 2 คน ครูอัตราจ้าง จำนวน 1 คน โดยมี ร.ต.อ.พัฒณศักดิ์ พัฒนพงศ์ศา ทำหน้าที่ครูใหญ่ (ผู้บริหารโรงเรียน) เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนทั้งสิ้น 162 คน แยกเป็น อนุบาล 43 คน ประถมศึกษา 119 คน