Loading...

โรงเรียนอานันท์

               โรงเรียนอานันท์ ตั้งอยู่ในโครงการพระราชดำริหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากค่ายนเรศวรหัวหินได้จัดตั้งศูนย์ฝึกการรบในป่าที่หมู่บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ พันตำรวจเอก ประเนตร ฤทธิ์ฤาชัย ( ยศในสมัยนั้น ) พร้อมด้วยคณะนายตำรวจ ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่าควรส่งทีมตำรวจพลร่ม ๑ ทีม ไปลาดตระเวนพื้นที่ป่าละอู เพื่อช่วยเหลือชาวเขา (กะเหรี่ยงที่อยู่ห่างไกล การคมนาคม) และเพื่อป้องกันการแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่อยู่ตามชายแดนไทย-พม่า  เมื่อทีมตำรวจพลร่มได้ลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศ ได้พิจารณาความจำเป็นและความสำคัญเข้าหลักภารกิจของหน่วย จึงได้ขออนุมัติท่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงพลตำรวจตรีกระจ่าง ผลเพิ่ม รอง ผบช.ด. (ชด) จัดตั้งศูนย์รวมข่าวชายแดนที่บ้านป่าละอู จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ และในปีเดียวกันตำรวจพลร่มได้สำรวจยอดชาวกะเหรี่ยงทั้งชาย – หญิง จนได้ยอดที่แน่นอน เป็นชาย ๒๐ คน หญิง ๑๕ คน เด็กชาย ๑๐ คน เด็กหญิง ๘ คน
               ปี พ.ศ.๒๕๐๘ มีชาย ๒๕ คน หญิง ๒๐ คน เด็กชาย ๑๕ คน เด็กหญิง ๑๒ คน
               ปี พ.ศ.๒๕๐๙ จำนวนชาวกะเหรี่ยงทั้งชาย – หญิง และเด็กรวมทั้งสิ้น ๑๒๒ คน จึงได้พิจารณาเห็นควรจัดตั้งโรงเรียนขึ้น และได้มอบหมายให้นายคะ ผู้ใหญ่บ้านป่าละอู ประชุมลูกบ้านเพื่อฟังข้อคิดเห็นและความต้องการในเรื่องจัดตั้งโรงเรียนขึ้นสอนบุตร – ธิดา ของพวกเขา บรรดาชาวกะเหรี่ยงต่างดีใจและต้องการให้สร้างโรงเรียนขึ้น ส่วนกำลังแรงงานต่างๆ พวกเขาจะช่วยกันทำเองด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงได้ให้ชาวกะเหรี่ยงปรับพื้นที่ที่จะสร้างโรงเรียน เมื่อปรับพื้นที่เสร็จแล้วจึงเสนอของบประมาณต่อท่านรอง ผบช.ด.(ชด) สมเด็จพระราชชนนีได้ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นจำนวนเงิน ๖๐,๐๐๐ บาทและพระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า “ อานันท์ ”
              การก่อสร้างได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๙ โดยใช้กำลังตำรวจพลร่มที่อยู่ประจำจุดพัฒนาบ้านป่าละอู จำนวน ๕ นาย ร่วมกับนายสุดใจ ศรีสุวรรณ ผู้ใหญ่คะ ชาวกะเหรี่ยงและคนไทยบางส่วน
              แบบแปลนที่ใช้ในการก่อสร้าง ใช้ตามแบบก่อสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ เรียกแบบนี้ว่า แบบ ๐๐๓ แต่ทางค่ายนเรศวรหัวหินได้ดัดแปลงขยายแบบแปลนให้ใหญ่กว่าเดิมเพิ่มจำนวนห้องเรียนให้มากกว่าเดิมเป็นโครงการสำรองเพื่อรับจำนวนเด็กที่จะเพิ่มขึ้นจะไม่แออัด ยัดเหยียดกันสามารถที่จะบรรจุได้ ๒๐๐ คน ตัวอาคารเรียนสร้างเป็นตัวเรือนไม้ชั้นเดียวทันสมัยมี ๔ ห้องเรียน และมีห้องโถงเป็นห้องประชุมอีก ๑ ห้อง หลังคามุงด้วยสังกะสี การก่อสร้างได้ดำเนินไปด้วยดีตามแนวทางพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชชนนีทุกประการ
             เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๙ สมเด็จพระราชชนนีได้ทรงเสด็จประกอบพิธีเปิดโรงเรียนด้วยพระองค์เอง
             ในปีแรกเปิดทำการสอนชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๑ เท่านั้นมีนักเรียนชาย – หญิง ทั้งหมด ๑๖ คน เปิดทำการสอนอยู่ได้เพียง ๖ ปี จำเป็นต้องย้ายไปก่อสร้างใหม่ที่ ชพก ๗๑๒ พิกัด เอ็นพี ๖๐๑๘๔๖ ระยะทางห่างจากที่เดิม ๒ กิโลเมตร ไปทางทิศเหนือ รื้อถอนเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๕ ขนย้ายได้วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ โดยใช้กำลังตำรวจพลร่ม ศช. ป่าละอู ราษฎรกะเหรี่ยง และนักเรียนตำรวจพลร่มรุ่น ๑๑๙ (ซึ่งอยู่ในระหว่างฝึกภาคสนาม ) ร่วมกันแบกหามขนย้าย การขนย้ายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะใช้ได้เพียงแต่แรงงานคนเท่านั้น
              การดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดทำการสอนได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ โดยใช้ครูตำรวจพลร่ม ๓ นาย เปิดทำการสอน ๔ ชั้นเรียนมีนักเรียนชาย – หญิง ๑๖๘ คน และมีครูตำรวจพลร่มทั้งหมด ๖ นาย
              ปี ๒๕๒๒ ได้โอนไปสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเปิดทำการสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
              ปัจจุบันโรงเรียนอานันท์ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ ๒ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓

ปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 2021-11-12 13:08:52 น.

กิจกรรมโรงเรียนอานันท์